จำนวนการเข้าชมบล็อก

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

กิจกรรมการจัดการความรู้ (KM) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน


เนื่องด้วยสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน      ได้จัดกิจกรรมการจัดการความรู้ (KM) เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนที่   เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ วันที่ 24 มกราคม 2557   เวลา 13.30 - 16.00 น. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้       การจัดการความรู้ (KM) ในประเด็นการพัฒนาการเรียน  การสอน  ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และ แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความรู้ประสบการณ์ตรงและทักษะ ตลอดจนเพื่อนำความรู้ที่ได้มาเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี ที่สามารถนำมาใช้ใน การปฏิบัติงานจริงซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านจัดการเรียน    การสอน ผู้บริหาร คณาจารย์และนักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 162 คน โดยได้ร่วมให้ความรู้ ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขปัญหาโดยมีประเด็นร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งสามารถสรุปเป็นความรู้ในประเด็นต่างๆ  ดังต่อไปนี้

 หลักการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 
1. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียนรู้
2. ผู้เรียนได้เรียนรู้ตรงกับความต้องการ  ความสนใจ และความถนัดของตนเอง
3. ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความรู้ความคิดออกได้อย่างอิสระ
4. ผู้เรียนได้ใช้ความคิด และเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง
5. ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพจริงและได้รับประสบการณ์ตรง
6. ผู้เรียนได้ใช้สื่อต่าง ๆ ที่หลากหลายในการเรียนรู้
7. ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นหรือได้ทำงานเป็นกลุ่ม
8. ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข
9. การสอน และการทดสอบสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้

 การเตรียมการสอน 
1. อาจารย์ต้องศึกษาคำอธิบายรายวิชา จัดทำ มคอ. 3 รวมทั้งศึกษา curriculum mapping
2. ต้องรู้เขารู้เรา สอนวิชานั้น ๆ หรือไม่    ต้องศึกษาอะไรเพิ่มเติม ต้องรู้ว่าผู้เรียนเป็นใคร มี learning style  อย่างไร
3. ฝึกการใช้เทคนิคการ talk show ร่วมในการสอนภาคบรรยาย เพื่อให้บรรยากาศการบรรยายในการเรียนการสอนดูคึกคักสนุกสนาน เป็นการสร้างแรงจูงใจในการเรียนไม่น่าเบื่อ 

 การจัดการเรียนการสอน 
1. การสอนในวิชาบรรยาย ควรใช้วิธีการที่หลากหลายทั้งการบรรยายโดยอาจารย์ผู้สอนเอง การใช้สื่อวีดีทัศน์จากเหตุการณ์จริงประกอบการบรรยาย  ให้นักศึกษาได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จากการชมวีดีทัศน์แล้ว ร่วมกันวิเคราะห์ความสอดคล้องกับเนื้อหาในบทเรียน หรือนำเสนอหน้าห้องเรียน
2. การสอนในวิชาที่ต้องฝึกทักษะ ควรให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริงให้มาก
3. ควรตั้ง หรือ ยกตัวอย่างจากสิ่งที่ง่ายไปยาก หรือจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมไปสู่นามธรรม
4. การสอนในวิชาปฏิบัติ อาจารย์จะต้องจัดเตรียมขั้นตอนการดำเนินงานไว้ ให้นักศึกษา สามารถตรวจสอบด้วยตนเองว่าดำเนินงานได้ถึงขั้นตอนใดแล้ว มีขั้นตอนใดที่ตนเองยังทำไม่ได้ ก็ให้นักศึกษาทำความเข้าใจ หรือทบทวนการดำเนินงานขั้นตอนนั้น ๆ ให้เข้าใจ จดจำ  แล้วจึงไปฝึกปฏิบัติ ทำกระบวนการเช่นนี้ซ้ำ ๆ  จนมั่นใจและปฏิบัติได้จริง
5. ให้นักศึกษาทำแบบฝึกทักษะท้ายบทและ ให้นักศึกษา แบ่งกลุ่มกันทำงานเพื่อตรวจคำตอบ
6. อาจารย์ผู้สอนควรแทรกความรู้ด้านจริยธรรมวิชาชีพ   ไม่ใช่แค่ความรู้ทางทฤษฎี ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

 การกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ 
1. อาจารย์ผู้สอนควรสร้างแรงจูงใจ หรือกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจประเด็นเนื้อหาสาระในระหว่างเรียน
2. ทำการสอบย่อยทุกครั้งก่อนการสอนเพื่อเป็นการทบทวนบทเรียนที่เรียนผ่านมา แล้วให้นักศึกษาตรวจสอบความถูกต้องและให้คะแนนด้วยตนเองก่อน อาจารย์ทำการตรวจสอบอีกครั้ง และทำการอธิบายในส่วนที่ยังมีข้อผิดพลาดเป็นรายบุคคล ทำให้นักศึกษามั่นใจในตนเองมากขึ้น และสามารถวิเคราะห์และอธิบายข้อผิดพลาดได้ ซึ่งข้อผิดพลาดเหล่านั้นก็จะ  ลดน้อยลง หรือไม่เกิดขึ้นอีก


 การวัดผลประเมินผล 
1. ควรนำ  curriculum mapping มาประกอบการพิจารณากำหนดระดับคะแนนเก็บระหว่างภาค และปลายภาค  โดยกำหนดคะแนนตามจุดเน้นใน curriculum mapping เช่น  ให้ 5 คะแนน  ให้ 2 คะแนนเป็นต้น 
2. ทำการบันทึกกิจกรรมที่เสริมหรือกิจกรรมที่ให้นักศึกษาทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองไว้ ในตอนท้ายของแบบบันทึกคะแนน
3. ทำแบบบันทึกคะแนนโดยใช้ Microsoft excel เพื่อความสะดวกในการรวมคะแนน และนำไปใช้ร่วมกับ โปรแกรม new grade หรือระบบตัดเกรด online  ของมหาวิทยาลัย  อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ลดความผิดพลาดในการคำนวณคะแนนและค่าระดับคะแนนของนักศึกษาแต่ละคน
4. การส่งผลการเรียนให้กับสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน ควรส่งผลการเรียนผ่านระบบ online เพราะระบบจะช่วยในการคำนวณ และสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐาน หรือใช้ตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งอาจารย์ผู้สอนสามารถเข้าระบบดูได้เมื่อต้องการตรวจสอบในภายหลัง รวมทั้งเป็นการลดปริมาณการใช้กระดาษลงจากการตัดเกรดระบบเดิม
5. การวัดผลและประเมินผลการศึกษา  ควรใช้    authentic assessment โดยทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษาในประเด็นสาระตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละด้านที่กำหนดไว้ และการวัดนั้นต้องกำหนดค่าคะแนนและสิ่งที่ต้องวัดเชิงประจักษ์ให้ชัดเจน
6. ควรให้นักศึกษาเขียนสะท้อนผลการเรียนรู้ (Reflection) โดยให้เขียนภายหลังการสอนเป็นช่วย ๆ ว่า เขาได้เรียนรู้อะไร ต้องการเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม หรือมีปัญหาในด้านใด ต้องการอะไร  เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไป

 การทวนสอบ 
1. การทวนสอบไม่ใช่การสอบปกติ แต่เป็นการตรวจสอบการเรียนการสอนให้เป็นไปตามcurriculum mapping ที่ได้ระบุไว้ในเล่มหลักสูตร การดำเนินการเป็นไปตาม มคอ. 3 หรือไม่ หรือนักศึกษาได้ องค์ความรู้ตามคำอธิบายรายวิชาหรือไม่  หรือเป็นไปตามสภาวิชาชีพของแต่ละสามขาวิชากำหนดไว้หรือไม่
2. กระบวนการทวนสอบให้ดำเนินการตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ในหมวด 7 ของหลักสูตร (มคอ.2 ) ให้ครอบคลุมรายวิชาอย่างน้อยร้อยละ 25  ของรายวิชาที่ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามหลักสูตร TQF ที่เห็นชอบโดย สกอ. แล้ว โดยจัดทำในรูปคณะกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชา และให้ทำการบันทึกข้อมูลผลการทวนสอบของแต่ละรายวิชาไว้ให้ชัดเจน

 ปัญหา อุปสรรคในการเรียนการสอน และแนวทางแก้ไข 
1. ผู้สอนควรแจ้งเวลาเรียนให้นักศึกษาแต่ละคนได้ทราบว่าตนเองขาดเรียนแล้วกี่ครั้ง เพื่อเป็นกระตุ้น ย้ำเตือนไม่ให้ขาดเรียนหรือเป็นการเตือนให้นักศึกษาเกิดสำนักในคุณธรรม จริยธรรม ตามมาตรฐานของหลักสูตรกำหนด แต่ละรายวิชา
2. ควรใช้กิจกรรมกระตุ้น สร้างจิตสำนึกเกี่ยวกับจรรยาบรรณในศาสตร์ในสาขาวิชาที่ตนเรียนอยู่ควรมีการแจ้งให้นักศึกษาทราบเป็นระยะว่า นักศึกษามีคะแนนเก็บเท่าไหร่ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้เป็นข้อมูลในการประเมินคะแนนผลการเรียนของตัวเองได้ล่วงหน้า

 การขอแก้ไขผลการเรียนของนักศึกษา 
1.  ก่อนการสอบปลายภาค อาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชา  ควรแจ้งคะแนนเก็บระหว่างภาคให้นักศึกษาทราบก่อน เพื่อให้นักศึกษาได้ประเมินตนเองก่อนการสอบปลายภาคการศึกษา และยังเป็นการแสดงความโปร่งใสในการให้คะแนนของอาจารย์
2. ภายหลังจากการตัดสินผลการเรียนของนักศึกษาในรายวิชาที่ผู้สอนแต่ละท่านรับผิดชอบไปแล้ว อาจารย์ผู้สอนควรแจ้งผลการเรียนให้นักศึกษาดูที่ป้ายประกาศของสาขาวิชาต่าง ๆ เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง  เพื่อให้นักศึกษาได้ตรวจสอบข้อมูลว่าผลการเรียนรายวิชานั้น ๆ เป็นไปตามข้อมูลที่ได้รับการ  feedback ในห้องเรียนแต่ละครั้งหรือไม่  หรือเป็นไปตามที่ควรจะเป็นตามข้อตกลงระหว่างผู้เรียนและผู้สอนหรือไม่ และนักศึกษาจะได้ทำการทักท้วงกับอาจารย์ผู้สอนให้มี การทบทวนหรือขอแก้ไขผลการเรียนอย่างเป็นระบบตามระเบียบและแนวปฏิบัติการขอแก้ไขผลการเรียน  ที่ผิดพลาด ต่อไป


โทรศัพท์ :  0-5671-7119 หรือ
              0-5671-7100  ต่อ 1121, 1122, 1129
โทรสาร  :  0-5671-7120